นาฬิกาชีวภาพของคนทำงานเป็นวงจรและใช้ระยะเวลา 24 ชั่วโมงเช่นกัน โดยมี 2 ช่วง คือ ช่วงมืด กับช่วงสว่าง
สำหรับช่วงสว่าง แสงจะกระตุ้นตัวรับแสง ซึ่งอยู่ที่เรตินา(จอตา) กับที่เส้นใยประสาท
ส่วนช่วงมืด(กลางคืน) สมองจะหลั่งเมลาโทนิน(melatonin) มากระตุ้นและสัญญาณผ่านระบบประสาทและฮอร์โมนไปควบคุมการทำงานของอวัยวะ และต่อมต่างๆ เพื่อให้สภาวะร่างกายดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับวงจรของวันในธรรมชาติ ซึ่งได้แก่ อุณหภูมิของร่างกาย, ความดันเลือด, การเต้นของหัวใจ และวงจรการหลับ-ตื่น
เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญต่อร่างกายมาก โดยชักนำให้เกิดการนอนหลับ ปรับการทำงานของนาฬิกาชีวภาพ ช่วยชะลอความแก่ และป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็ง
แต่เมลาโทนินจะถูกหลั่งออกมาในช่วงกลางคืนเท่านั้น เนื่องจากถูกยับยั้งโดยแสง แม้แสงจะมีความเข้มต่ำเพียง 0.1 ลักซ์(เทียบได้กับแสงในคืนพระจันทร์เต็มดวง) ก็ส่งผลให้ร่างกายหลั่งเมลาโทนินน้อยลงได้
ปัจจัยที่ทำให้นาฬิกาชีวภาพทำงานผิดปกติ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิต (เช่น การนอนไม่เป็นเวลา นอนดึก) ความชรา และโรคบางชนิด เช่น อัลไซเมอร์ มะเร็ง พาร์คินสัน โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า เป็นต้น เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นเมลาโทนินจะถูกหลั่งออกมาน้อยลง ส่งผลให้นาฬิกาชีวภาพทำงานผิดปกติ คนชราจึงมีอาการต่างๆ เช่น นอนไม่ค่อยหลับ ใช้ระยะเวลาให้เริ่มหลับนาน ระยะเวลานอนหลับสั้นลง นอนหลับไม่ลึก และเข้านอนเร็ว ทั้งนี้เป็นเพราะตัวรับแสงและตัวรับสัญญาณอื่นๆ ในร่างกายเสื่อมสภาพลง
ดังนั้น ในขณะนอนหลับจึงไม่ควรเปิดไฟทิ้งไว้ เพราะมีผลไปยับยั้งการหลั่งเมลาโทนิน และไม่ควรรนอนหลับในช่วงเย็นเพราะจะทำให้ช่วงเวลาเข้านอนต้องเลื่อนออกไป
ความสัมพันธ์ระหว่างอวัยวะ(ระบบ)ของร่างกายกับช่วงเวลาในวงจรของวัน
เวลา 3.00 – 5.00 น. เป็นช่วงเวลาของปอด เพื่อให้ระบบหายใจได้ทำงานได้เต็มที่ และเซลล์ต่างๆ ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะที่สมอง สมองที่ได้รับออกซิเจนน้อยหรือไม่เพียงพอจะมีผลความจำของคนเราเสื่อมลงได้
และช่วง 4.00 – 5.00 น เป็นช่วงที่อุณหภูมิของร่างกายลดลงต่ำสุด ร่างกายควรได้รับความอบอุ่น หลีกเลี่ยงสภาวะอากาศเย็น ช่วงนี้จึงเหมาะต่อการตื่นนอนเพื่อรับอากาศบริสุทธิ์และออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้ปอดทำงานดีขึ้น สำหรับคนที่ระบบหายใจหรือปอดมีปัญหา หายใจติดขัด ไอ จาม มีน้ำมูก โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคหอบต้องระวังสุขภาพ เพราะช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่อาการกำเริบได้ง่าย
เวลา 5.00 – 7.00 น. เป็นช่วงเวลาของลำไส้ใหญ่ เพื่อขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย และมีการหลั่ง cortisol เพื่อช่วยให้ร่างกายกระปรี่กระเปร่า ช่วงนี้จึงควรดื่มน้ำเพื่อกระตุ้นระบบขับถ่าย และตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไปจนถึงช่วงหัวค่ำ ความดันเลือดในร่างกายจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น สำหรับคนที่มีสุขภาพอ่อนแอ จะมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก หายใจติดขัด โดยเฉพาะคนที่เป็นโรค หืดควรระวังอาการกำเริบ
เวลา 7.00 – 9.00 น. เป็นช่วงเวลาของกระเพาะอาหาร เนื่องจากร่างกายต้องการพลังงาน ดังนั้นจึงควรรับประทานอาหารมื้อเช้า สำหรับผู้ป่วยเป็นโรคไมเกรน ภูมิแพ้ ไขข้ออักเสบรูมาทอยด์ ช่วงเวลานี้ควรระวังอาการกำเริบได้
เวลา 9.00 – 11.00 น. เป็นช่วงเวลาของม้ามและตับอ่อน โดยม้ามทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย กำจัดเม็ดเลือดแดงที่เสื่อมสภาพ ส่วนตับอ่อนจะผลิตเอนไซม์มาช่วยย่อยอาหารที่ลำไส้เล็ก ร่างกายช่วงนี้จะมีความตื่นตัวมาก จึงเป็นช่วงที่เหมาะต่อการ ทำงาน/ทำกิจกรรม
เวลา 11.00 – 13.00 น. เป็นช่วงเวลาของหัวใจ ซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดและสารอาหารไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ช่วงนี้ระดับความดันเลือดในร่างกายยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ดัง นั้นคนที่หัวใจผิดปกติ ช่วงนี้จะมีเหงื่อออกมากและรู้สึกร้อน อบอ้าว
เวลา 13.00 – 15.00 น. เป็นช่วงเวลาของลำไส้เล็ก ทำหน้าที่ย่อยและดูดซึมอาหาร หากมื้อกลางวันไม่รับประทานอาหารหรือรับประทานอาหารไม่เพียงพอ ช่วงนี้จะรู้สึกหิวและทรมาน
เวลา 15.00 – 17.00 น. เป็นช่วงเวลาของกระเพาะ ปัสสาวะ ซึ่งทำหน้าที่เก็บน้ำกรองจากไต โดยช่วง 17.00 น. เป็นช่วงที่หลอดเลือดหัวใจและกล้ามเนื้อในร่างกายมีความแข็งแรง จึงเหมาะต่อการออกกำลังกาย
เวลา 17.00 – 19.00 น. เป็นช่วงเวลาของไต เพื่อกรองของเสียออกจากเลือดและรักษาสมดุลในร่างกาย ช่วง 18.30 น. ระดับความดันเลือดจะเพิ่มขึ้นสูงสุด และ ช่วงนี้จึงควรดื่มน้ำสะอาด (ไม่ควรดื่มน้ำเย็น) และไม่ควรนอนหลับในช่วงนี้ เพราะจะทำให้นอนไม่หลับในช่วงกลางคืน
เวลา 19.00 – 21.00 น. เป็นช่วงเวลาของเยื่อหุ้มหัวใจ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของหัวใจ และเป็นช่วงของระบบหมุนเวียนโลหิต โดยช่วง 19.00 น. อุณหภูมิในร่างกายจะเพิ่มขึ้นสูงสุด ผู้ป่วยเป็นโรคผิวหนัง ช่วงนี้ควรระวังอาการกำเริบ
เวลา 21.00 – 23.00 น. เป็นช่วง เวลาของระบบทั้ง 3 (triple heater) ได้แก่ ระบบหายใจ ส่งผลต่อร่างกายช่วงบน(หัวใจ-ปอด) ระบบย่อยอาหารมีผลต่อช่วงกลางลำตัว(กระเพาะ อาหาร ม้าม ตับ) และระบบขับถ่ายมีผลต่อร่างกายช่วงล่าง(ไต กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้เล็ก) เป็นช่วงที่ร่างกายปรับสมดุลความร้อนและเป็นช่วงที่อุณหภูมิในร่างกายจะค่อยๆ ลดลง การขับถ่ายอุจจาระจะหยุดพักชั่วคราว ร่างกายจะเริ่มหลั่งเมลาโทนิน ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่ควรนอนหลับพักผ่อน
เวลา 23.00 – 1.00 น. เป็นช่วงเวลาของถุงน้ำดี เพื่อเก็บน้ำดีที่ได้จากตับและส่งน้ำดีมาช่วยย่อยไขมันที่ลำไส้เล็ก ถุงน้ำดีและตับ จึงเป็นอวัยวะที่ทำงานเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กันอย่างมาก
เวลา 1.00 – 3.00 น. ช่วงเวลาของตับ เพื่อกำจัดสารพิษในร่างกาย ลดระดับน้ำตาลในเลือดโดยนำมาสังเคราะห์และเก็บสะสมในรูปไกลโคเจน และสร้างน้ำดีมาเก็บไว้ที่ถุงน้ำดี ช่วงนี้ควรเป็น ช่วงที่หลับสนิทเพื่อให้เลือดไหลเวียนมาที่ตับได้ดี เนื่องจากเวลา 2.00 น ร่างกายจะหลั่งเมลาโทนินได้สูงสุด การนอนไม่หลับ เครียด ได้รับสารพิษ หรือรับประทานอาหารหวานจัด จะส่งปัญหาถึงตับ สำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจ ช่วงนี้อาจทำให้อาการกำเริบและหัวใจล้มเหลวได้
ทีนี้ลองพิจารณาพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตัวเราสิว่า สอดคล้องกับตารางเวลาของนาฬิกาชีวิตหรือไม่? เพราะโรคบางโรค อาจมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา
ที่มา http://xn--22ck6bneezbp5c6bf3hdec0b1d5sja.blogspot.com/2013/05/body-cloak.html