สัตวแพทย์ยืนยัน “หมัดแมว” กัดไม่ทำให้ตาย แต่อาจคัน เกิดตุ่ม หรือมีอาการแพ้จากน้ำลาย-ขี้หมัดได้ อาจเกิดทันทีใน 2-4 ชม.หรือเป็นวัน แต่ไม่เคยพบแพ้รุนแรงถึงขั้นตาย แต่หมัดนำเชื้อโรคอื่นได้ ทั้งไข้รากสาดใหญ่ พยาธิตัวตืด ย้ำต้องป้องกันไม่ให้สัตว์มีหมัด
สพ.ญ.รัตนพร ตั้งวังวิวัฒน์ นายสัตวแพทย์ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีนักเรียนหญิง ม.5 ถูกหมัดแมวกัด ติดเชื้อในกระแสเลือดเสียชีวิต ว่า โดยปกติแล้วยังไม่มีรายงานว่า หมัดกัดแล้วทำให้เสียชีวิต ส่วนตามข่าวที่ว่าติดเชื้อในกระแสเลือด ก็ยังไม่แน่ใจว่า เกิดจากหมัดแมวจริงหรือไม่ ต้องสอบสวนโรคและวินิจฉัยเพิ่มเติม แต่ยืนยันว่าการถูกหมัดกัดไม่ทำให้เสียชีวิต แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการคัน เกิดตุ่มแดงบริเวณที่ถูกกัด โดยอาจเกิดขึ้นทันที หรือ 2-4 วันหลังจากถูกกัด บางรายอาจเกิดอาการแพ้บริเวณผิวหนัง จากการสัมผัสน้ำลายหมัดหรือขี้หมัด โดยเฉพาะบริเวณข้อมือ ข้อเท้า ที่สัมผัสกับสัตว์ โดยอาการแพ้อาจเกิดขึ้นภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังถูกกัดหรือใช้เวลาเป็นวัน แต่ยังไม่พบรายงานการแพ้อย่างรุนแรง ที่ทำให้ช็อกหรือเสียชีวิตเลย
สพ.ญ.รัตนพร กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เห็บและหมัดถือเป็นพาหะนำเชื้อโรคไปสู่สัตว์ตัวอื่นและนำมาติดต่อสู่คนได้ ผ่านทางน้ำลายหมัด เช่น เชื้อโรคไข้รากสาดใหญ่ที่ติดมาจากหนู ทำให้ปวดศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้ หรือโรคพยาธิตัวตืด เป็นต้น เพราะหมัดไม่ได้อยู่แค่ในแมว แต่อยู่ได้ทั้งในสุนัข สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ฟันแทะ และสัตว์มีกีบ หรือแม้แต่การติดเชื้อในสัตว์เอง เช่น พยาธิเม็ดเลือดที่ทำให้สุนัขตาย เป็นต้น ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ การป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงไปสัมผัสกับหมัด เพราะหากมีหมัดแล้วก็จะวนเวียนอยู่ในบ้าน และเกิดขึ้นเรื่อยๆ ต้องรีบกำจัดหมัดทั้งในตัวสัตว์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำได้โดยการอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยง และใช้ยาป้องกันเห็บหมัด ซึ่งปัจจุบันมีหลากหลายยี่ห้อ โดยออกฤทธิ์อยู่ได้นาน 30-40 วัน โดยสามารถให้สัตว์แพทย์หยอดให้หรือซื้อยาหยอดที่ได้มาตรฐานมาหยอดทุกเดือน ที่สำคัญอย่าเห็นแก่ของราคาถูกและไม่ได้มาตรฐาน เพราะอาจทำให้สัตว์พิการหรือตายอย่างที่เคยเป็นข่าวได้
สพ.ญ.รัตนพร กล่าวว่า ส่วนวงจรชีวิตของหมัดมี 4 ระยะ คือ ตัวไข่ ตัวอ่อน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ตัวที่กัดเราคือโตเต็มวัย สามารถอยู่ในบ้านในสิ่งแวดล้อมได้นาน ส่วนใหญ่ถ้าบ้านรกๆ หมัดจะชอบขึ้นไปสะสมตามมุมบ้าน จึงต้องทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมในบ้านด้วย ส่วนสัตว์เลี้ยงก็ต้องคอยสำรวจไม่ให้หมัด อย่างเจ้าของบางคนไม่รู้ว่าสัตว์ตัวเองมีหมัด โดยเฉพาะตัวขนยาว อย่างแมวเปอร์เซีย ต้องทำการเปิดขนใต้ท้อง ซึ่งอาจเห็นเป็นขีดเล็ก บางคนคิดว่าอาจเลอะอะไร แต่จริงๆ แล้วคือหมัด ส่วนการกำจัดหากจับทิ้งข้างๆ หมัดก็มีโอกาสกระโดดกลับเข้ามาอีก แต่ต้องทิ้งในน้ำผสมสบู่หรือยาเพื่อให้ตาย ทั้งนี้ ย้ำว่าเราอยู่กับสัตว์เลี้ยงได้ แต่ต้องป้องกันไม่ให้มีหมัด และต้องระวังการแพ้ในทารก หรือคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ส่วนหมัดและเห็บจะต่างกัน คือ หมัดจะเคลื่อนไหวเร็ว ตัวแบน ส่วนเห็บจะเคลื่อนไหวช้ากว่า มีตัวผู้ตัวเมีย ส่วนใหญ่ที่เห็นดูดเลือดจนตัวใหญ่จะเป็นตัวเมีย
สพ.ญ.รัตนพร กล่าวว่า สำหรับยากำจัดหมัดนั้นหากเป็นแบบฉีดพ่นจะต้องรอให้หมัดมาติดและกัดสัตว์เลี้ยงก่อน ไม่ได้มีผลในการป้องกัน ส่วนยาหยอดจะช่วยป้องกันหมัดได้ โดยจะหยอดที่หลังคอ โดยยาจะไปที่ต่อมไขมันใต้ผิวหนังและออกฤทธิ์ช่วยฆ่าและป้องกันหมัด
ที่มา: www.thaihealth.or.th
ลิ้งข่าว: https://bit.ly/31lMvyL