กระเทียม เครื่องเทศสมุนไพร ให้ประโยชน์

กระเทียม

กระเทียม

กระเทียม ชื่อสามัญ Garlic กระเทียม ชื่อวิทยาศาสตร์ คือคำว่า Allium sativum Linn. จัดอยู่ในวงศ์ Amaryllidaceae และอยู่ในวงศ์ย่อย Allioideae เช่นเดียวกันกับกุยช่าย พลับพลึงขาว พลับพลึงแดง พลับพลึงตีนเป็ด ว่านสี่ทิศ หอมแดง และหอมใหญ่   สำหรับในประเทศไทยนิยมปลูกมากในทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่สำหรับกระเทียมที่ขึ้นชื่อที่มีคุณภาพดี กลิ่นฉุนคงหนีไม่พ้นจังหวัดศรีษะเกษ     “กระเทียม” เป็นพืชสมุนไพรและเป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับปรุงอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารไทยหรืออาหารฝรั่ง ส่วนใหญ่แล้วก็มักมีกระเทียมเป็นส่วนประกอบของอาหารทั้งนั้น ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มรสชาติให้อร่อยขึ้นแล้ว ยังมีคุณค่าต่อร่างกายอีกมาก
ประโยชน์หลักๆ ของกระเทียมคงหนีไม่พ้นการนำมาใช้เพื่อช่วยปรุงรสชาติของอาหาร ไม่ว่าจะใช้ผัด แกง ทอด ยำ ต้มยำ หรือน้ำพริกต่างๆ อีกสารพัดกระเทียมเป็นเครื่องสมุนไพรที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด และยังเป็นพืชที่ธาตุซีลีเนียมสูงกว่าพืชชนิดอื่นๆ อีกทั้งยังมีสารอะดิโนซีน (Adenosine) ซึ่งเป็นกรดนิวคลีอิกที่เป็นตัวสร้าง DNA และ RNA ของเซลล์ในร่างกาย นอกจากนี้ยังมีการนำกระเทียมไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างหลากหลาย เช่น กระเทียมเสริมอาหาร กระเทียมสกัดผง สารสกัดน้ำมันกระเทียม กระเทียมดอง เป็นต้น
ประโยชน์ของกระเทียม
1. มีสารที่ช่วยต้านมะเร็งได้           ไม่น่าเชื่อว่าเจ้าเครื่องเทศกลิ่นแรงนี้ นอกจากจะช่วยลดระดับไขมัน, คอลเลสเตอรอล  และน้ำตาลในเลือดได้แล้ว ทั้งนี้กำมะถันที่ผสมอยู่ในกระเทียม ยังสามารถยับยั้งการเกิดของสารก่อมะเร็งที่ชื่อ ไนโตรซามีน (Nitrosamine) ในร่างกาย ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็งได้ นอกจากนั้นซีลีเนียม (Selenium) ที่พบในกระเทียมมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และลดอันตรายจากการเกิดอนุมูลอิสระ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดเซลล์มะเร็งที่อวัยวะต่าง ๆ ได้อีกด้วย
2. สามารถป้องกันโรคหัวใจ            สรรพคุณอันน่าทึ่งของกระเทียม นอกจากช่วยต้านโรคมะเร็งได้แล้ว ยังสามารถป้องกันโรคหัวใจที่หลาย ๆ คนต่างหวาดกลัวได้เป็นอย่างดี รวมทั้งช่วยลดความดันโลหิต, การอุดตันของเส้นเลือด, ลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือด เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน และกล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงานเฉียบพลัน
3. เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย           ประโยชน์ของกระเทียมไม่ได้มีแค่ยับยั้งและป้องกันโรคต่าง ๆ ได้เท่านั้น กระเทียมยังช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกายให้ดีขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้แล้วพบว่ากระเทียมมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรค, เชื้อไวรัส, เชื้อรา รวมทั้งบรรเทาและลดอาการภูมิแพ้ได้เป็นอย่างมาก
คำแนะนำและข้อควรระวังในการใช้กระเทียม  กระเทียมยิ่งสดเท่าไหร่ก็ยิ่งมีสรรพคุณที่ดีมากขึ้นเท่านั้น แต่สำหรับกระเทียมที่ผ่านความร้อนด้วยวิธีการต่างๆ หรือผ่านการหมักดอง จะทำให้วิตามินและสารอัลลิซินที่มีอยู่ในกระเทียมนั้นสลายตัวไป   วิตามินและแร่ธาตุที่อยู่ในกระเทียมนั้น จะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับดินและสภาพอากาศที่ใช้ในการเพาะปลูกอีกด้วย   สำหรับหญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดเป็นปกติ มีระดับความดันโลหิตเป็นปกติ ผู้ที่มีอาการของเลือดหยุดไหลช้า รวมไปถึงผู้ที่ใช้ยาอื่นๆ เป็นประจำ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแอสไพริน ยาแก้อักเสบ ยาต้านไวรัส คุณไม่ควรรับประทานกระเทียมหรือผลิตภัณฑ์กระเทียมเสริมในปริมาณที่มากจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้เป็นโทษต่อร่างกายได้   สำหรับที่ได้รับกลิ่นของกระเทียมเป็นประจำ อาจทำให้เกิดอาการแพ้กระเทียมเมื่อรับประทานได้ โดยอาจจะมีอาการคลื่นไส้ และมีอาหารหัวใจที่เต้นแรงผิดปกติ แต่อาการดังกล่าวจะค่อยๆ หายไปเองภายในเวลา 3-4 ชั่วโมง ซึ่งกระเทียมที่นำมาใช้ในการประกอบอาหารมักจะก่อให้เกิดอาการแพ้ได้น้อยกว่ากระเทียมแบบสดๆ   สำหรับผู้ที่อยู่ในครัวหรือผู้ต้องใช้มือสัมผัสกับกระเทียมเป็นประจำและเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ผิวหนังเกินการอักเสบมีตุ่มน้ำได้ ดังนั้นคุณควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกระเทียมโดยตรงเป็นประจำด้วยการสวมถึงมือทุกครั้งในขณะที่จะใช้กระเทียม   แม้ว่ากระเทียมจะเป็นพืชที่มีสรรพคุณอยู่มากมาย แต่คุณก็ไม่ควรที่จะเลือกใช้กระเทียมเพื่อหวังผลในการรักษาอาการหรือโรคใดโรคหนึ่ง อีกทั้งผลลัพธ์ที่ได้ในแต่ละบุคคลก็อาจจะแตกต่างกันออกไป ดังนั้นคุณควรเลือกรับประทานให้หลากหลายและครบ 5 หมู่ จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะพืชผักสมุนไพรทั่วๆ ไป ถ้าศึกษากันจริงๆ แล้ว มันก็มีประโยชน์ไม่น้อยไปกว่ากันเลย   ปัจจุบันในบ้านเรายังไม่มีการรับรองว่ากระเทียมนั้นจะสามารถรักษาโรคได้จริง คงเป็นได้เพียงแต่สมุนไพรทางเลือกในการรักษาและสมุนไพรเสริมสุขภาพเท่านั้น

แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) , คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย