ดังที่กล่าวไปแล้วว่า สาเหตุของอาการแฮงค์ในคอมพิวเตอร์นั้นมีอยู่มากมาย 108 ประการ แถมอาการแฮงค์ที่แสดงออกมาก็ต่างกันออกไป ดังนั้น เราลองมาดูวิธีการจัดการปัญหาเบื้องต้นเมื่อคอมพิวเตอร์เกิดอาการแฮงค์กันครับ โดยลองสังเกตอาการแฮงค์แล้วแยกเป็นแต่ละกรณีไปครับ
หากอาการแฮงค์หรือค้าง เกิดขึ้นเฉพาะกับบางหน้าต่าง บางโปรแกรมเท่านั้น หน้าต่างหรือโปรแกรมอื่นๆ ยังใช้งานได้ สังเกตได้จากหน้าต่างที่ใช้งานอยู่ไม่ตอบสนองใดๆ แม้กระทั่งเอฟเฟกของปุ่มเวลาเอาเมาส์ไปชี้ บางครั้งอาจขึ้นคำว่า “Not Responding” บน Title bar แต่เราสามารถคลิกสลับไปโปรแกรมอื่นจากทาสก์บาร์ข้างล่างได้ อาการแบบนี้ยังพอแก้ไหวครับ อาจเป็นที่ bug หรือข้อผิดพลาดของโปรแกรมเอง รอสักพักอาจกลับมาทำงานได้ หรือไม่ก็เข้าไปสั่งปิดจาก Task Manager ครับ
วิธีแก้ไข คือ ให้เข้า Task Manager แล้วไปสั่งปิดโพรเซสของโปรแกรมนั้นเลยครับ วิธีการเข้า Task Manager นั้น ให้คลิกขวาที่พื้นที่ว่างของทาสก์บาร์แล้วเลือก Start Task Manager หรือจะใช้คีย์ลัดก็ได้ โดยสำหรับวินโดวส์ให้ใช้ปุ่ม <Ctrl+Alt+Del> แล้วกดปุ่ม Start Task Manager
เมื่อเข้ามาใน Task Manager ได้แล้ว ให้ไปที่แท็บ Applications แล้วเลือกโปรแกรมที่ค้างอยู่ (ด้านขวาจะมีคำว่า Not Responding) แล้วกด End Task ครับ จากนั้นหากมีหน้าต่างถามอีกครั้งก็ให้กด End Now หรือถ้าใครรู้ชื่อโพรเซสของโปรแกรม ให้เข้าไปที่แท็บ Processes แท็บที่สอง คลิกเลือกโพรเซสของโปรแกรมที่ค้าง แล้วกด End Process ได้ผลดีกว่าครับ
อาการแฮงค์ที่ตัวเครื่อง
หากทำงานอยู่แล้วเกิดอาการค้างแบบที่ทำอะไรไม่ได้เลย กดเข้า Task Manager แล้วก็ยังค้าง ทางออกเดียวก็คือต้องรีเซ็ทเครื่องครับ แต่การกดปุ่มรีเซ็ทนั้น ขอให้เป็นตัวเลือกสุดท้าย เพราะมันเหมือนการปิดแบบลัดขั้นตอน ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายได้
วิธีการทำให้เครื่องปิด หรือ รีสตาร์ทตามวิธีปกติ ในขณะที่กำลังค้างทั้งระบบนั้น หากใช้ระบบปฏิบัติการ Windows 7 ให้ลองกดปุ่ม <Ctrl+Alt+Del> มันจะกลับไปยังหน้าจอหลักด้านนอก (จอพื้นหลังน้ำเงินสวยๆ ก่อนล็อกออนเข้าระบบ)
ซึ่งจากหน้าจอนี้ เราสามารถ switch ไปใช้ยูสเซอร์อื่นที่ยังไม่ค้าง, สามารถสั่ง Log off, สั่ง Shutdown หรือ Restart ได้ตามปกติครับ
หรือถ้าเป็นคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆ ลองกดปุ่ม Power ดูครั้งเดียวโดยไม่ต้องกดค้าง แม้ว่าระบบจะค้าง มันก็จะปิดตัวเองให้ตามวิธีปกติ
แต่ถ้าทำตามวิธีข้างต้นแล้วยังไม่ได้ ก็คงเหลือทางเลือกเดียว นั่นคือกดปุ่มรีเซท หรือกดปุ่ม Power ค้างไว้ประมาณ 10 วินาที คอมพิวเตอร์ก็จะดับ (สังเกตไฟสถานะของ HDD ก่อนกด หากไฟยังติด อย่างเพิ่งกด แสดงว่าฮาร์ดดิสก์กำลังทำงาน อาจเกิดความเสียหายได้)
ใช้งานอยู่แล้วเกิดจอฟ้า (Blue Screen)
หากเกิดหน้าจอมรณะนี้ ทางออกเดียวครับ กดปุ่มรีเซ็ทเครื่อง
ค้างก่อนเข้า Windows
หากเกิดอาการแฮงค์ขณะกำลังบูตเข้าสู่วินโดวส์ และเข้าสู่วินโดวส์ไม่ได้ หรือเข้าไปทีไรก็เกิดจอฟ้า (Blue Screen) ลองกดรีเซ็ทใหม่ แล้วพอเริ่มบูตให้กด F8 รัวๆ เพื่อเข้าสู่ Boot Menu แล้วเลือก Safe Mode เพื่อเข้าสู่วินโดวส์แบบพื้นฐานที่สุด (หน้าตาหยาบๆ) แล้วลองไปจัดการลบโปรแกรมหรือไดรเวอร์ที่คิดว่ามีปัญหาดู